วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เทศกาลราเมนที่ร้านสเต็คกลางสวน เริ่มต้น 59 บาท



ความเป็นมาของราเมน เริ่มเข้ามาที่ญี่ปุ่นในยุคเมจิที่ 19 ในยุคนั้นจะเรียกบะหมี่ว่า ชินะโซบะ (支那そば) หมายถึง โซบะของจีน ต้นตำรับบะหมี่ของจีนใช้ชื่อว่า ลาเมียน (拉麺) มีความหมายคือ การดึงเส้นด้วยมือ แต่เพราะว่า ภาษาญี่ปุ่น ไม่มีเสียง L จาก Lamen จึงเพี้ยนเปลี่ยนมาเป็น Ramen แทน และราเมนนั้นเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมในตอนเริ่มแรกของยุคโชวะและได้กลาย เป็นอาหารนอกบ้านที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตอนนั้น ต่อมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองได้จบลงไป สหรัฐได้นำสินค้าเข้ามาในญี่ปุ่นก็คือ แป้ง นั่นแหละ นำเข้ามามากจนล้นตลาดเลยทำให้แป้งมีราคาถูกมาก ด้วยโอกาสที่ราเมนยังคงเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอยู่ บวกกับเหล่าทหารที่เพิ่งกลับมาจากจีนและคุ้นเคยอาหารจีนอยู่แล้วด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องออกไปทานราเมนนอกบ้านอยู่ดี จึงทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เพียงแค่เติมน้ำร้อนลงไปที่บะหมี่ไม่กี่นาที ก็สามารถทานได้แล้วนั้น ถูกคิดค้นและผลิตออกมาเป็นครั้งแรกในปี 1958 โดย Momofuku Ando ผู้ก่อตั้งบริษัท Nissin Foods อันโด่งดังที่ญี่ปุ่นนั่นเอง หลังจากนั้นในช่วงปี 1980 ราเมนก็ได้กลายเป็นที่รู้กันว่าเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นไปแล้วทั่วโลก

การทำราเมนนั้นจะมีกรรมวิธีในการสร้างสรรค์รสชาติให้เข้ากันได้ดี ที่เน้นๆ ก็คือ เส้นบะหมี่ น้ำซุป และเนื้อ ที่ใช้วางบนราเมน เมื่อทั้งสามอย่างนี้ลงตัวรสชาติที่ได้ก็จะเข้ากันได้ดีอย่างแน่นอน ในแต่ละภูมิภาคการปรุงรสก็ต่างกันไป ส่วนใหญ่จะเน้นวัตถุดิบที่มีใกล้ๆ ในแต่ละพื้นที่และนำมาประยุกต์ใช้ การทำเส้นบะหมี่ราเมนแต่ละสูตรนั้นมีความหลากหลายของรูปทรง บางบ้าง หนาบ้าง เป็นเส้นตรง หรือ เส้นหยิก ก็แล้วแต่แบบฉบับของแต่ละสูตรอีกนั่นแหละ ส่วนการทำน้ำซุปนั้นโดยทั่วไปจะถูกต้มจากส่วนผสมจากเนื้อหรือกระดูกหมูหรือไก่ ปรุงรสด้วยสาหร่ายทะเล เกล็ดปลาต่างๆ ใส่เกลือ ใส่มิโสะ หรือโชยุ ส่วนผสมที่ได้คือน้ำซุปราเมนรสชาติกลิ่นหอมหวน 


- Shio ramen คือราเมนน้ำซุปที่ปรุงรสจากเกลือ ผัก ไก่หรือกระดูกหมู น้ำซุปจะมีสีเหลืองใสๆ รสชาติเบาๆ และเส้นบะหมี่ส่วนใหญ่จะใช้แบบเส้นตรงและเล็ก ท็อปปิ้งด้วย สาหร่ายทะเล ไข่ต้ม หมูชาชู (หมูย่างหั่นสไลด์) วางไว้อยู่บนราเมนอีกด้วย  

- Shoyu ramen คือราเมนปรุงรสจากโชยุเป็นหลัก น้ำซุปมีสีน้ำตาลอ่อนๆ และเส้นบะหมี่จะใช้เส้นหยิกๆ มากกว่าเส้นตรง ท็อปปิ้งข้างบนราเมนจะถูกจัดวางด้วยหน่อไม้ดองหั่นบาง หัวหอม สาหร่าย ถั่วงอก บางร้านอาจจะใช้เนื้อวัวหั่นสไลด์วางแทนหมูชาชูก็ได้ 

- Miso ramen คือราเมนซุปมิโสะ ผสมกับน้ำซุปไก่หรือซุปปลา ราเมนขึ้นชื่อจากฮอกไกโด เส้นบะหมี่หนานุ่มและหยิก มีความหลากหลายในรสชาติ โดยที่ส่วนที่ท็อปปิ้งบนราเมนก็คือข้าวโพด เนย ถั่ว กระหล่ำปลี กระเทียมบด หัวหอม และเพราะอากาศที่นี่ค่อนข้างหนาวจึงเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายด้วยน้ำหมูลงไปในชามด้วยเล็กน้อย 

- Tonkotsu ramen คือราเมนซุปกระดูกหมู  น้ำซุปออกสีขาวขุ่นๆ เคี่ยวจากกรดูกหมูติดมัน ใส่ครีมหรือเนย ซอสถั่วเหลือง และเส้นบะหมี่จะใช้เส้นบางและตรง ราดด้วยน้ำมันงา และเสิร์ฟพร้อมกับขิงดอง เป็นราเมนขึ้นชื่อในแถบคิวชู เขตฮากาตะ ที่ฟุกุโอกะ และราเมนชนิดนี้บางครั้งก็ถูกเรียกว่า ราเมนฮากาตะ  เป็นราเมนคล้ายๆ กับของจีน

ราเมนแพร่หลายในแต่ละภูมิภาคและก็มีวัตถุดิบต่างกันไป มาดูกันดีกว่าราเมนแถบไหนเป็นยังไงกันบ้างมาเริ่มด้วย ราเมนในแถบซัปโปโรที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และมีมิโสะราเมนที่มีชื่อเสียงอย่างมาก เพราะที่นี่อากาศหนาวราเมนจึงถูกออกแบบมาให้เหมาะกับฤดูหนาวที่หนาวมาก และพิเศษตรงที่อาหารในท้องถิ่นมีอาหารทะเลเยอะและสดจริงๆ จึง สามารถนำหอยเชลล์  ปลาหมึก และปู  มาเป็นส่วนหนึ่งของราเมนได้อย่างลงตัวและรสชาติโอชะจนต้องบอกต่อ ในขณะที่ ฮาโกดาเตะ ก็มีชื่อเสียงทางด้านผลิตเกลือปรุงราเมนอีกด้วยและในแถบอะซาฮิคาวะ ก็มีโชยุขึ้นชื่ออยู่ที่อีก ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมราเมนที่นี่ถึงอร่อยมาก เพราะมีวัตถุดิบดีๆ หลายอย่างนี่เอง

ในตอนภาคเหนือของฮอนชู แถบคิทะกะตะ  ราเมนของที่นี่ความพิเศษด้วยเส้นบางหยิกและกรอบและน้ำซุปกระดูกหมู


ราเมนในแถบโตเกียวนั้นเส้นบะหมี่จะบางและหยิกไม่มากนัก น้ำซุปไก่และโชยุ มีหัวหอม หมูชาชู ปลาแห้ง ไข่ สาหร่ายและผักขมวางเป็นท็อปปิ้งอยู่บนราเมน ที่โตเกียวหาทานได้ง่ายๆ ที่แถบ ย่านอิเคะบุคุโระ ย่านโองิคุโบะ และย่านเอบิซุ

ราเมนที่โยโกฮาม่านั้นมีชื่อเรียกว่า Ie-kei (家系) เส้นบะหมี่หนาและตรงน้ำซุปโชยุรสชาติคล้ายๆ ซุปกระดูกหมู ท้อปปิ้งด้วยหมูย่างหั่นสไลด์ ไข่ต้ม สาหร่าย ต้นหอมซอย และผักขม และที่สำคัญน้ำซุปไม่มันมากจนเกินไป

ฟุกุโอกะมี  ฮากาตะราเมน ที่มีชื่อเสียงมากในประเทศญี่ปุ่นเพราะน้ำซุปกระดูกหมูที่เคี่ยวอย่างพิถีพิถันทำให้รสชาตินุ่มลิ้นแค่ได้กลิ่นท้องก็ร้องแล้วล่ะ ที่ญี่ปุ่นมีร้านที่สามารถสั่งเส้นบะหมี่เพิ่มได้ เพียงแต่ห้ามทานซุปราเมนฮากาตะหมดก่อนเท่านั้นเองเป็นเมนู ราเมนฮากาตะขนาดเล็กกว่าขนาดธรรมดา ระบบร้านราเมนแบบนี้เรียกว่า Kae-dama (替え玉) 

เชฟศุตม์ 

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันประสูติพระสังฆราช พระชันษาครบ 99 ปี

ฑีฆายุโก โหตุ มหาสังฆราชา



พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระเกียรติคุณฟุ้งเฟื่องไปในจตุรทิศ  ด้วยพระปฏิปทาอันงดงาม ดังจะขออัญเชิญมา ณ ที่นี้  ควรทราบว่า ราชทินนาม สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร นี้ เป็นราชทินนามพิเศษที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่ พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น  นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดเกล้าพระราชทานสถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓  ก็ไม่ทรงโปรดพระราชทานสถาปนาราชทินนามนี้แก่พระเถระรูปใดอีกเลย  นับเป็นเวลาถึง ๑๕๒ ปี จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๑๕  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙  จึงทรงโปรดให้สถาปนา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในตำแหน่งที่ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปที่ ๒  อันเป็นการแสดงให้ปรากฏว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นพระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ ที่สมควรแก่ราชทินนามนี้ ครั้นเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒  พระชนมายุได้ ๗๕ พรรษา  จึงได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร แทนราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมา คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทั้งนี้  ก็เพื่อให้พระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ยังเป็นที่ปรากฏอยู่สืบไป


พระชาติภูมิ


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี  มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. เศษ  (นับอย่างปัจจุบัน เป็นวันที่ ๔ ตุลาคม)  ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู ณ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร  (ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๖๕) พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พ.ศ.๒๕๐๘)  ชีวิตเยาว์วัย นับว่าเป็นสุขและอบอุ่น เพราะป้าเฮงผู้เป็นพี่สาวของโยมมารดา ได้ขอมาเลี้ยง และดูแลอย่างทะนุถนอม  ส่วนที่นับว่าเป็นทุกข์ก็มีอยู่บ้าง คือทรงเจ็บป่วยทรมานทางร่างกายอยู่เสมอ  คราวหนึ่งทรงป่วยหนัก จนญาติๆพากันคิดว่า คงจะไม่รอด และบนว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชแก้บน เป็นเหตุให้ทรงได้บรรพชาเป็นสามเณรในเวลาต่อมา  พระนิสัยที่แปลก อาจกล่าวได้ว่าเป็นบุพพนิมิตในชีวิต ก็คือ การชอบเล่นเป็นพระ หรือเล่นประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เล่นสร้างถ้ำก่อเจดีย์ เล่นทอดผ้าป่าทอดกฐิน เล่นทิ้งกระจาด  แม้ของเล่น ก็ชอบทำคัมภีร์เทศน์เล็กๆ หรือทำตาลปัตรเล็กๆ อีกอย่างหนึ่ง ก็ชอบเล่นจุดเทียน บางครั้งนั่งดูเทียนเล่นอยู่คนเดียวจนสว่าง


บรรพชา


ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระชนมายุย่าง ๑๔ พรรษา พระชนนีและป้า ชักชวนให้บวชเป็นสามเณรแก้บนที่ค้างมาหลายปี จึงตกลงพระทัยบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม โดยพระครูอดุลยกิจ (ดี พุทฺธโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม ซึ่งเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม ซึ่งเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดหนองบัว เป็นพระอาจารย์ให้ไตรสรณคมน์และศีล  พรรษาแรกจำพรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม  ไม่ได้เล่าเรียนอะไร นอกจากท่องสามเณรสิกขา และท่องบททำวัตรสวดมนต์เท่านั้น  ครั้นออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อจึงชักชวนให้ไปเรียนภาษาบาลีที่วัดเสน่หา ในจังหวัดนครปฐม

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงได้เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์ที่วัดเสน่หา ในพรรษาศกนั้น  ครั้นถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒  หลวงพ่อวัดเหนือ ได้นำเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร  ได้ทรงพระเมตตารับไว้ และประทานนามฉายาให้ว่า  สุวฑฺฒโน  ซึ่งมีความหมายว่า ผู้เจริญดี  ในปีนั้น ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี,  พ.ศ. ๒๔๗๓ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยค,  พ.ศ. ๒๔๗๔ ทรงตั้งใจเรียนประโยค ๔ แต่มาสอบได้พร้อมกับนักธรรมชั้นเอก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕   ชีวิตในปฐมวัย ดำเนินไปอย่างราบรื่น ด้วยมีผู้ปกครอง และครูอาจารย์ที่ดี และทรงมีพื้นอัธยาศัยที่ดี โน้มเอียงไปในทางพระศาสนา เป็นเหตุให้พระองค์ประสบความสำเร็จในชีวิตปฐมวัย


อุปสมบท


ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ทรงมีพระชนมายุครบอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ทรงกลับไปอุปสมบท ณ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน โดยมีพระครูอดุลยสมณกิจ (หลวงพ่อวัดเหนือ) เป็นพระอุปัชฌาย์  พระครูนิวิฐสมาจาร (หลวงพ่อวัดหนองบัว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระปลัดหรุง เจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ครั้นอุปสมบทแล้ว ได้อยู่จำพรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม เพื่อช่วยหลวงพ่อสอนพระปริยัติธรรมตามความมุ่งหมายของท่าน ๑ พรรษา ครั้นออกพรรษาแล้ว ได้กลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารตามเดิม และได้ทรงทำทัฬหีกรรม คืออุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุตที่วัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นภวงศ์)  ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์  พระรัตนธัชมุนี (จู อิสฺสรญาโณ) ต่อมาได้รับสมณศักดิ์ที่ พระเทพเมธี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 


ในปีนี้ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค,  พ.ศ. ๒๔๗๗ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค,  พ.ศ. ๒๔๗๘ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค,  พ.ศ. ๒๔๘๑ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค,  และ พ.ศ. ๒๔๘๔ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค  ชีวิตในมัชฌิมวัย เป็นช่วงเวลาของการเรียน และการแสวงหาความรู้   พ.ศ. ๒๔๘๙  การได้รับความไว้วางพระทัยให้เป็นเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ นั้น นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ได้ทรงเรียนรู้งานด้านต่างๆ ทั้งงานคณะสงฆ์ งานวิชาการ และงานสั่งสอนเผยแผ่ ตลอดจนการปฏิบัติฝ่ายวิปัสสนาธุระ ทรงปฏิบัติสมาธิกรรมฐานอย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตร  ทรงปฏิบัติพระองค์แบบพระกรรมฐานในเมือง ทรงเล่าว่า เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาในคณะธรรมยุตว่า ภิกษุสามเณรพึงปฏิบัติสมาธิกรรมฐานเพื่อเป็นเครื่องรักษาใจ ให้ใจมีงานที่ถูกต้อง ได้คิดได้ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระผู้เป็นเถระหรือเป็นผู้ปกครองหมู่คณะ พึงถือเป็นกิจที่จะต้องปฏิบัติ ไม่ว่าจะอยู่ในป่าหรือในเมือง เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ภิกษุสามเณรที่อยู่ในปกครอง



เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร นับแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา ก็ทรงมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น คือ การอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณร ในฐานะทรงเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้นพูดเหมือนเขียน  ทรงเทศน์จากความคิดที่ไตร่ตรองโดยแยบคายแล้ว  ลีลาการเทศน์ของพระองค์จึงต่างจากพระเถระอื่นๆ คือ พูดช้าๆเป็นวรรคเป็นตอน เหมือนกับทรงทิ้งช่วงให้คนฟังคิดตามกระแสธรรมที่ทรงแสดง  พ.ศ. ๒๔๙๙  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จออกทรงผนวช และประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงปฏิบัติสมณธรรมเป็นเวลา ๑๕ วัน จึงทรงลาผนวช ในระหว่างนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระราชอุปัธยาจารย์ในการทรงผนวชครั้งนี้ ได้ทรงมอบความไว้วางพระทัยในปฏิปทาและความสามารถ จึงทรงเลือกเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโศภนคณาภรณ์ ให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ทำหน้าที่ถวายคำแนะนำเกี่ยวกับการทรงผนวชแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดระยะเวลาแห่งการทรงผนวช


เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นพระมหาเถระผู้คงแก่เรียนพระองค์หนึ่งในปัจจุบัน ทรงรอบรู้แตกฉานในพระพุทธศาสนาทั้งในด้านปริยัติ และปฏิบัติ   “กำลังเรียนใหญ่หรือ อย่าบ้าเรียนมากนัก หัดทำกรรมฐานเสียบ้าง”  รับสั่งของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นเหตุให้พระองค์ทรงสนพระทัยในการปฏิบัติกรรมฐานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา   แม้ครูบาอาจารย์สายวัดป่าที่ปรากฏชื่อลือนาม อันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้ทรงจาริกไปประทับ เพื่อนมัสการ สนทนาธรรม และปฏิบัติธรรมกับท่านเหล่านั้นอยู่เสมอ ชั่วระยกาลหนึ่ง ตามแต่โอกาสอำนวย อาทิเช่น หลวงปู่ดูลย์ อตุโล,  หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี,  หลวงปู่ชอบ ฐานสโม,  หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน นอกจากนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังเป็นเพื่อนสหธรรมิกที่สนิทสนมกันยิ่งกับ องค์หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล ด้วยปรากฏว่า ในปีที่ท่านสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ได้นั้น ทั้งสองพระองค์สอบได้พร้อมกัน และอยู่ในสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารเช่นเดียวกัน



คุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิต


ขันติ  ต้องใช้ความอดทนอย่างมากต่อพระสุขภาพที่อ่อนแอซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการศึกษาเล่าเรียน   ความใฝ่รู้ ไม่เคยจืดจาง ทรงอ่านหนังสือทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ  บางครั้งยังทรงแนะนำผู้ใกล้ชิดให้อ่านด้วย  เรื่องนี้เขาเขียนดี น่าอ่าน   ความกตัญญู  “นั่นของโยมแม่ เอาไว้ที่เดิม”  มีผู้จะเอาไปทิ้ง  ผ้าอาสนะที่พระชนนีเย็บถวาย แม้จะเก่าแล้ว  ผู้มีพระคุณต่อพระองค์ แม้เพียงเล็กน้อย ก็ทรงหาโอกาสสนองคุณอยู่ไม่ลืมเลือน  ความถ่อมตน ทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยมสำรวม ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน  ใครๆไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น”  ทรงรับสั่ง เมื่อมีผู้กล่าวว่า พระองค์เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  คารวธรรม  ทรงมีความเคารพต่อพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ โดยเฉพาะพระกรรมฐาน เมื่อมาสู่พระอาราม ทรงต้อนรับปฏิสันถารด้วยความเคารพอย่างดียิ่ง  ความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ  พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหรา  ทรงเตือนภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า  เป็นพระต้องจน ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเรียบง่าย แม้ที่อยู่อาศัยก็ไม่โปรดให้ประดับตกแต่ง  พระปฏิปทา จริยาวัตรของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงเป็นที่น่าประทับใจ และเป็นปฏิปทาที่ควรแก่การยึดถือเป็นเนติแบบอย่างอันดียิ่ง